บทสัมภาษณ์: ดร. อาจณรงค์ ฐานสันโดษ

posted in: ATPAC Members Interview | 0

บทสัมภาษณ์: ดร. อาจณรงค์ ฐานสันโดษ

ดร.อาจณรงค์ ฐานสันโดษ (Dr. Artnarong Thansandote) เกิดที่ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หรือ ระดับชั้น ม. 6 ในปัจจุบัน) จากโรงเรียนศรียาภัยจังหวัดชุมพร ปี พ.ศ. 2512 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี พ.ศ. 2516   จากนั้นสำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเกษตร จาก University of Manitoba ประเทศแคนาดาเมื่อปี พ.ศ. 2519 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จาก Carleton University ประเทศ แคนาดาในปี พ.ศ. 2525
ดร.อาจณรงค์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตรีภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2516 และได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2526 และพ.ศ. 2529 ตามลำดับ วิชาที่อยู่ในความรับผิดชอบส่วนใหญ่ เป็นวิชาภายใต้สาขาแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetics) และระบบสื่อสารระหว่างที่ปฏิบัติงานได้มีโอกาสไปดูงานที่ Tohoku Gakuin University ใกล้นคร Sendai ประเทศญี่ปุ่น  โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Japan Society for the Promotion of Science 
หลังอำลาชีวิตราชการไทยเมื่อ พ.ศ.2531  ดร.อาจณรงค์  ได้ทำงานเป็น Research Associate และสอนที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่  University of Ottawa  ประเทศแคนาดา  งานวิจัยที่ทำใน ช่วงนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Sensors สำหรับวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแบบทรานเซียนต์ (Transient)  และพัลส์สำหรับวิเคราะห์ความเข้ากันได้ในเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า 
 

 ดร.อาจณรงค์  เข้ารับราชการเป็น Research Scientist  ที่กระทรวงอนามัยแคนาดา (Health Canada)  เมื่อปีพ.ศ. 2534  และดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2555  ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกอิเล็คโตรแมคเนติกส์ (Electromagnetics Division)  อยู่ประมาณ 20 ปี  ในฐานะหัวหน้าแผนก  ได้ริเริ่มและบริหารจัดการโครงการวิจัย และดูแลนักวิชาการ และนักศึกษาที่ทำงานวิจัยด้านผลกระทบ เชิงชีววิทยาของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Biological effects of electromagnetic fields) และการประเมินระดับการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของมนุษย์ (Assessment of human exposure)  อันเนื่องมาจากแหล่งกำเนิดต่างๆ  งานวิจัยของทีมงานรวมไปถึงการหาปริมาณพลังงานวิทยุที่ถูกดูดกลืนในร่างกาย (Radiofrequency dosimetry) อันเนื่องมาจากอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย  การพัฒนาระบบการวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุ จากสถานีแม่ข่ายโทรศัพท์มือถือ  การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุจาก สมาร์ทมิเตอร์ไฟฟ้า (Smart utility meters) และจากหลอดไฟประหยัดพลังงาน (Compact fluorescent lamps) การศึกษาหาผลกระทบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ความถี่วิทยุหลายรูปแบบ (คลื่นต่อเนื่อง พัลส์และชนิดมอดูเลต) ต่อเซลล์เม็ดเลือดของมนุษย์และของสัตว์  และการศึกษาผลกระทบของสนามแม่เหล็กความถี่ไฟบ้าน ต่อการพัฒนาเนื้องอกที่ผิวหนัง และต่อการเสียหายของดีเอ็นเอในหนูทดลอง  ปัจจุบัน ดร.อาจณรงค์  ยังทำงานอยู่ที่ Health Canada  ในฐานะนักวิทยาศาสตร์อาวุโส (Scientist Emeritus) 
ดร.อาจณรงค์  เป็นสมาชิกอาวุโสของสถาบัน Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) และ Bioelectromagnetics Society  อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada หรือ ATPAC) และได้รับใช้สมาคม ATPAC ในฐานะผู้บริหารและกรรมการบอร์ดหลายวาระ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน  นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์สมทบ (Adjunct Professor) ที่มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและประเทศแคนาดา   ดร.อาจณรงค์ ได้ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยเรไจน่า (University of Regina, Canada) ในการทำวิจัยและควบคุมดูแลการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกทางสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ดร.อาจณรงค์  ได้ทำกิจกรรมให้คณะทำงานและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและนอกประเทศแคนาดา  อาทิเช่น เป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาของโครงการ International EMF Project ขององค์การอนามัยโลก (พ.ศ. 2539- 2555) และได้ช่วยองค์การฯ ในการจัดประชุมวิชาการ  International EMF Conferences  ที่กรุงออตตาวา (พ.ศ. 2541)  กรุงเทพฯ ( พ.ศ. 2547) และกรุงกัวลาลัมเปอร์ (พ.ศ. 2550)  เป็นกรรมการในคณะกรรมวิชาการในการจัดประชุม IEEE International Antennas and Propagation Symposium and URSI North American Radio Science Meeting  ที่นคร Columbus, มลรัฐโอไฮโอ (พ.ศ.2546) และการประชุม 14th International Symposium on Antenna Technology and Applied Electromagnetics and the American Electromagnetics Conference ที่กรุงออตตาวา (พ.ศ. 2553)   ดร.อาจณรงค์ ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกของ Bioelectromagnetics Society ให้เป็นกรรมการบอร์ดเป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2551-2554)  นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของ IEEE International Committee on Electromagnetic Safety (ICES) และ ได้รับใช้ ICES ในฐานะ ประธานร่วมของคณะอนุกรรมการ 4 ซึ่งพัฒนามาตรฐาน ความปลอดภัยสำหรับการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า  ในฐานะคนไทย ดร.อาจณรงค์ ได้ริเริ่มและร่วมปฏิบัติงานโครงการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีความสอดคล้องในเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) สู่ประเทศไทยผ่านทางสมาคม ATPAC และได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการกับหลายองค์กรในประเทศไทย  รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการจัดกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการการป้องกันรังสีชนิดไม่แตกตัวเป็นไอออน (National program on non-ionizing radiation protection)  

ดร.อาจณรงค์  ได้รับรางวัลชมเชยจากการทำงานที่ Health Canada และจากการทำงานให้องค์กรและสถาบันอื่นๆ  รวมทั้งได้รับรางวัลศิษย์เก่าเกียรติยศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2549  และเหรียญรางวัล Queen Elizabeth II Diamond Jubilee Medalเมื่อ พ.ศ. 2555 (www.gg.ca/pdf/DiamondJubilee_eng.pdf)  เหรียญรางวัลนี้ รัฐบาลแคนาดาได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีิอลิซาเบธที่สอง เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการยกย่องบุคคลที่มีผลงานดีเด่นและได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศแคนาดา  ดร.อาจณรงค์ เป็นหนึ่งในชาวแคนาดาจำนวน 60,000 คน ที่ได้รับเหรียญรางวัลดังกล่าว และประกาศนียบัตรยกย่องชมเชยจากข้าหลวงใหญ่ของประเทศแคนาดา (Governor General of Canada) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระราชินี

Queen Elizabeth II Diamond Jubilee Medal

ในด้านชีวิตส่วนตัว ดร.อาจณรงค์ สมรสกับ คุณพิมพ์ประภา ฐานสันโดษ (สกุลเดิม เนติรังษีวััชรา) เมื่อปีพ.ศ. 2519 มีบุตรชาย 1 คน (ลีโอ-เมธี) และบุตรสาว 1 คน (แพรว-เพชรรัตน์)  คุณพิมพ์ประภา เคยเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น เคยรับราชการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเคยรับราชการที่ Health Canada  ทั้งคุณพิมพ์ประภา และดร.อาจณรงค์ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทย ณกรุงออตตาวา (Thai Association of Ottawa)

ภาพถ่ายครอบครัวของ ดร.อาจณรงค์ ที่ University of Torontoหลังเสร็จพิธีประสาทปริญญาบัตร ซึ่งบุตรสาว (น.ส. เพชรรัตน์) ได้เข้ารับปริญญาเอกทางเคมี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553
อาจารย์เริ่มสนใจในสาขาวิศวกรรมเมื่อใดและอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์มีความสนใจในการศึกษาและ ทำงานในสาขาดังกล่าว
ผมเริ่มมีความสนใจที่จะศึกษาในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ซึ่งในขณะนั้นผมเรียนในสายวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว  เมื่อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ผมสามารถสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้  ผมดีใจมาก และรู้สึกว่าโชคดีเพราะในขณะนั้น (พ.ศ. 2512) มีมหาวิทยาลัยเพียง 4 แห่งในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ในระดับปริญญา เมื่อเรียนไปได้ 1 ปี ญาติของผมคนหนึ่ง (คุณปราณี  อนันตโชค) ให้คำแนะนำว่า  ถ้ายังไม่ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาย่อยอะไร  ก็ควรพิจารณาเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเพราะหางานได้ง่าย  ท่านคณบดีวิศวกรรมศาสตร์ในขณะนั้น (ดร.วิทยา  เพียรวิจิตร) ได้พูดว่า ผู้ที่จะเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าควรมีพื้นฐานคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่ดี และควรเป็นคนที่มีหัวคิดประดิษฐ์ประดอย  ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายก็เลยเลือกเรียนวิศวรรมไฟฟ้าซึ่งก็ไม่ผิดหวัง  
เมื่อจบแล้ว ทางภาควิชาวิศวรรมไฟฟ้าได้เปิดรับสมัครตำแหน่งอาจารย์  ผมจึงสมัครในตำแหน่งนั้น เมื่อผมได้เป็นอาจารย์แล้ว ผมได้พูดคุยกับอาจารย์รุ่นพี่ท่านหนึ่ง (อ.วัฒนา  กาสังข์) เกี่ยวกับสาขาที่จะศึกษาต่อ ก็เกิดความสนใจที่จะเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์  ผมก็เก็บความคิดนี้เอาไว้ และได้นำมาพิจารณาอีกครั้งเมื่อตอนใกล้จะจบการศึกษาระดับปริญญาโท  พอดีอาจารย์ที่ควบคุมดูแลวิทยานิพนธ์มีความสนใจในด้านการนำพลังงานไมโครเวฟไปใช้ในทางการแพทย์  ดังนั้นผมจึงเลือกทำวิจัยและวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้  ตอนกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชาทางด้านอิเล็คโตรแมคเนติกส์ สายอากาศ และระบบสื่อสาร  ในระหว่างทำงานที่ University of Ottawa  ผมก็ได้สอนและทำวิจัยในสาขาอิเล็คโตรแมคเนติกส์เช่นกัน  ต่อมา กระทรวงอนามัยแคนาดา (Health Canada) ประกาศรับนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ทางอิเล็คโตรแมคเนติกส์  ผมจึงสมัครและได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน งานวิจัยที่ได้รับมอบหมายให้ทำก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงกับประสบการณ์ทำงานและความสนใจของผม   
ขอให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงขอบเขตและความสำคัญของงาน วิจัยที่อาจารย์ทำอยู่
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า Health Canada นั้นเป็นกระทรวงของรัฐบาลแคนาดาที่ดูแลสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน  ดังนั้น ทุกหน่วยงานของกระทรวงได้ยึดแนวทางนี้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน  หน่วยงานของผมเป็นทบวงที่มีภาระกิจป้องกันรังสีและลดความเสี่ยงภัยของประชาชนจากการสัมผัสรังสี สนามแม่เหล็กไฟฟ้าถือเป็นรังสีชนิดหนึ่ง  แต่เป็นรังสีชนิดไม่แตกตัวเป็นไอออน (Non-ionizing radiation) และไม่มีอานุภาพพอที่จะแยกอิเล็คตรอนออกจากอะตอม  นั่นคือไม่สามารถจะทำลาย DNA ได้  ซึ่งต่างจากรังสีเอ็กซ์และรังสีแกมม่าที่มีอานุภาพสูงกว่า  เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจนี้  แผนกอิเล็คโตรแมคเนติคส์  (Electromagnetics Division) ที่ผมดูแลได้พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยจากการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน และบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน  ทำการทดลองเพื่อศึกษาผลกระทบในเชิงชีววิทยาของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า  จัดทำกฏระเบียบสำหรับการใช้เตาไมโครเวฟพร้อมการบังคับใช้ และให้คำปรึกษาแก่ กระทรวง ทบวง กรม ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไปในเรื่องความปลอดภัยของการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า  งานที่ทำได้รับความสนใจจากประชาชนในวงกว้าง  โดยเฉพาะผู้ที่มีที่อยู่อาศัยใกล้สายส่งแรงสูงและใกล้สถานีแม่ข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่  ตลอดจนผู้ที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย  ภาคอุตสาหกรรมก็ให้ความสนใจ เพราะผลการวิจัยและมาตรฐานความปลอดภัยที่พัฒนาขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อเศษฐกิจ และการขยายงานของอุตสหากรรมสื่อสาร งานวิจัยของ Electromagnetics Division ซึ่งผมมีส่วนเกี่ยวข้องทุกเรื่อง สนับสนุนการพัฒนามาตราฐานความปลอดภัย และเทคนิคการประเมินหาระดับการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า  ตราบใดที่ยังมีการใช้อุปกรณ์สื่อสาร และพลังงานไฟฟ้า  ความสนใจเรื่องความปลอดภัยทางด้านนี้จะยังคงมีอยู่  นั่นก็หมายความว่างานวิจัยก็คงจะต้องดำเนินต่อไป
การวัดระดับความเข้มของคลื่นวิทยุจากสถานีแม่ข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้เครื่องมือวัดติดตั้งบนหลังคารถตู้เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ในระหว่างขับรถไปตามถนนต่างๆ เครื่องมือวัดนี้ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยทีมงานของ ดร.อาจณรงค์ ที่ Health Canada
ข้อท้าทายที่สำคัญในสาขาวิศวกรรมนี้มีอะไรบ้าง
การให้ประชาชนทั่วไปเชื่อถือผลงานวิจัยของรัฐบาลนั้น บางครั้งเป็นสิ่งที่ท้าทาย  โดยเฉพาะกับประชาชนในประเทศตะวันตก ซึ่งจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตลอดเวลา  อย่างไรก็ดี  งานวิจัยทุกเรื่องของ Health Canada ได้ผ่านการกลั่นกรองและกระบวนการตรวจสอบภายใน ทั้งก่อนเริ่มทำการศึกษาทดลองและก่อนตีพิมพ์ผลงานวิจัย  งานวิจัยที่ในหัวข้อเรื่องความปลอดภัยจากการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตีพิมพ์โดยนักวิจัยจากบางสถาบันไม่ได้ให้ความสำคัญ กับการประเมินหาปริมาณพลังงานดูดกลืนในร่างกาย หรือ ระดับการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและการควบคุมสภาพ แวดล้อม (อุณหภูมิ ความชึ้น ฯลฯ) ในการทดลองกับเซลล์และสัตว์   ดังนั้นบทความที่ตีพิมพ์ผลงานในลักษณะนี้ ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาเป็นบวกหรือลบก็ตาม จะขาดความเชื่อถือจากสังคมนักวิทยาศาสตร์  ในประเด็นนี้ทีมงานวิจัยที่ Health Canada ให้ความสนใจเป็นพิเศษตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ Exposure chambers  จนถึงการสร้างและการหาคุณสมบัติของอุปกรณ์ดังกล่าว  โดยเฉพาะการหาปริมาณพลังงานที่ถูกดูดกลืนอยู่ในเซลล์และหนูทดลอง  อันนี้เป็นงานทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ท้าทาย  ทั้งนี้หน่วยงานของเราต้องการให้ผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับ และมีประโยชน์ต่อการพัฒนามตรฐานความปลอดภัยอย่างแท้จริง
การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการตรวจสอบรังสีเอ็กซ์และการวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ เมื่อ 9 – 13 ก.ค. 2544  มีนักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมฝึกอบรมประมาณ 35 คน โดยมี ดร. อาจณรงค์ และ Mr. Paul Chaloner จาก Health Canada ทำหน้าที่เป็นวิทยากร
มีปัญหาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใดบ้างในประเทศไทยที่อาจารย์คิดว่าน่ากังวลมากที่สุด
ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อย  มีสถาบันและองค์กรใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นหลายแห่ง  รัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา อีกทั้งยังได้มีการจัดทำแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นระยะๆ และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นเป็นลำดับ  อย่างไรก็ดีเท่าที่ผมได้ติดตามและสัมผัสอยู่บ้าง งานพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมักจะขาดความต่อเนื่อง และในบางกรณีไม่สามารถดำเนินการในเชิงรุกได้  ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลองค์กรของรัฐมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย  นโยบายก็เปลี่ยนตามผู้บริหารที่มีแนวทางการทำงานและการจัดลำดับความสำคัญของงานแตกต่างกัน  อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ งบประมาณสนับสนุนหากไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้งานพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น  ยกตัวอย่าง เช่น โครงการสมองไหลกลับ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาตาม มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2533  เพื่อให้เกิดการผลักดัน และสร้างเทคโนโลยีอันขาดแคลนและมีความจำเป็นมากขึ้น สำหรับประเทศไทย โดยอาศัยนักวิชาชีพไทยในต่างประเทศ และเครือข่ายในช่วงแรก โครงการนี้มีเงินอุดหนุนถึงประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี  เมื่อเวลาผ่านไปเงินอุดหนุนมีจำนวนลดลง จนขณะนี้เหลือแค่ไม่กี่ล้านบาทต่อปี  เมื่อเป็นเช่นนี้เราคงไม่สามารถคาดหวังความก้าวหน้าของโครงการได้มากนัก  อีกประเด็นหนึ่งก็คือยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุกต้องมีการ ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง  ยกตัวอย่างเช่น หากตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะผลิตรถยนต์ขายภายใน 5 ปี รัฐบาลและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยกัน ระดมความคิดและทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อให้ โครงการบรรลุตามเป้าหมายการผลิตรถยนต์นั้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถทำได้ ในเมื่อประเทศกัมพูชาสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเองได้ และประเทศมาเลเซียผลิตรถยนต์ขายได้ ทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้  
    
แล้วอาจารย์คิดว่าคนไทยควรจะทำอย่างไรเพื่อช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
ผมคิดว่าประเทศไทยควรมีแผนยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพื่อนำไปสู่ผลผลิตที่สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง  รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับงานวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย  ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ควรให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น  เพราะวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน   การปลูกฝังให้คนสนใจ ทางวิทยาศาสตร์นั้นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กและควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป การพัฒนาวิทยาศาสตร์ต้องเริ่มต้นในชั้นเรียน  อย่างไรก็ตามเป็นที่พูดกันมากขึ้นว่า  หลักสูตรการศึกษาของไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก  ควรที่จะได้รับการปรับปรุง ให้มีความเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่  หากปล่อยให้มีลักษณะดังเช่นทุกวันนี้  การพัฒนาประเทศก็ไม่สามารถก้าวหน้าไปได้เท่าที่ควร  ทุกหลักสูตรการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญา จะมีวิชาแกนพื้นฐาน (core courses) อยู่จำนวนหนึ่ง (ประมาณ 5-6 วิชา) ผู้บริหารการศึกษาและผู้สอนควรเน้นวิชา แกนพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อให้นักศึกษามีพื้นฐานที่ดีและมีความ เข้าใจใน basic concepts (ไม่ใช่เน้นท่องจำ) ทั้งนี้เมื่อจบการศึกษาแล้ว บัณฑิตก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยใช้ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ ทำเป็น  เหมือนกับลูกนกที่ ถูกฝึกบิน และสามารถบินได้ด้วยตนเองในที่สุด
อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักเรียนหรือ  นักศึกษาที่อยากจะเข้ามาในสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
ผมคิดว่านักศึกษาที่เลือกเรียนทางสาขาวิทยาศาสตร์ น่าจะมีความสนใจกับศาสตร์นี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น ในระหว่างที่เป็นนักศึกษาก็ควรให้ความสนใจกับวิชาพื้นฐานในสาขาที่ตนเองศึกษาเล่าเรียน  ทำความเข้าใจหลักการและทฤษฎีของแต่ละวิชาให้ถ่องแท้  ต้องระลึกเสมอว่า อาจารย์ผู้สอนของเรากลั่นกรองเนื้อหาวิชามาสอน  บางท่านก็ทำหน้าที่ได้ดี  บางท่านก็อาจจะไม่ได้ใช้เวลากลั่นกรองมากนัก ใช้เอกสารประกอบการบรรยายเดิมๆ ที่ไม่ได้ปรับปรุงมาเป็นเวลานาน ดังนั้น ในฐานะนักศึกษาเราต้องขวนขวายหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม  สอบถามผู้รู้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้สามารถไปหาอ่านได้ที่ไหน  ฝึกตั้งโจทย์และตอบโจทย์ด้วยตัวเอง พูดคุยประเด็นปัญหากับเพื่อนๆ  ต้องเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็น และต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยเหตุด้วยผล วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เปิดกว้างและมีการพัฒนาไม่สิ้นสุด  อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีพื้นฐานที่ดีและเข้าใจ basic principles ในสาขาที่เราเล่าเรียนมา การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทันกับวิชาการสมัยใหม่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก  ทั้งนั้นทั้งนี้การศึกษาไม่ว่าระดับใดก็ตามเราจะถูกฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น เหมือนกับลูกนกที่ถูกฝึกบิน และสามารถบินได้ด้วยตนเองในที่สุด

ภาพถ่ายหลังพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และกระทรวงอานามัยแคนาดา (((((Health Canada) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ฝ่ายไทยในการพัฒนาโครงการการป้องกันรังสีชนิดที่ไม่แตกตัวเป็นไอออน ซึ่ง ดร.อาจณรงค์ (แถวยืน คนที่ 2 จากทางขวา) เป็นผู้ร่างบันทึกนี้และผลักดันให้มีการลงนามที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อ 30 เมษายน 2540
มีอะไรที่อาจารย์อยากจะฝากบอกผู้อ่านหรือคนไทยใน สหรัฐอเมริกาและแคนาดาบ้าง
ตอนที่ผมสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมมีความคิดที่จะทำงานด้านความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศแต่ก็ทำได้ไม่มากนัก  เมื่อผมย้ายไปทำงานที่ประเทศแคนาดา  ก็ได้เริ่มมองหาช่องทางในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ  ในฐานะคนไทย ผมอยากช่วยบ้านเกิดเมืองนอนในสิ่งที่ สามารถทำได้ เพื่อให้ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ และบุคคลอื่นๆ ที่ผมรู้จักได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ผมคิดอยู่เสมอว่า เมื่อเราลืมตาอ้าปากได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะตอบแทนให้กับสังคมบ้าง  คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถช่วยเหลือประเทศไทยได้
เมื่อมีการจัดตั้งสมาคม ATPAC เมื่อ พ.ศ. 2535 ผมถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมทำงานในฐานะผู้บริหารของสมาคมที่ดูแลเขตพื้นที่แคนาดา ผมได้ชักชวนเพื่อนนักวิชาชีพไทยให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม และริเริ่มทำกิจกรรมและโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย  ผมได้รับการตอบรับที่ดีจากเพื่อนนักวิชาชีพ  นอกจากนี้ผมได้เชิญ ดร.วิเชษฐ์ อึ้งวิเชียร และ ดร.อภิศักดิ์ อิทธิพิบูลย์ ซึ่งผมรู้จักดี เข้ามาร่วมกันตั้งกลุ่ม Applied Electromagnetics และช่วย กันทำงานในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีความสอดคล้องในเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ไปสู่ประเทศไทย เราทำงานในสายนี้อยู่หลายปี  ต่อมาเราก็ได้ขยายขอบเขตของงานเพื่อทำกิจกรรมที่นำไปสู่การจัดตั้ง National Program on Non-ionizing Radiation Protection งานที่ทำกว่า 20 ปีที่ผ่านมามีหลายรูปแบบ เช่น การสอนวิชา Electromagnetic Compatibility ในมหาวิทยาลัยไทยบางแห่ง 
การทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการในประเทศไทย การจัดประชุมวิชาการ การฝึกอบรมบุคลากรทั้งระยะสั้นและระยะยาวทั้งในประเทศไทยและในทวีปอเมริกาเหนือ  แม้ว่าสิ่งที่ทำมาอาจจะไม่มากนัก และจำกัดอยู่ในสาขาที่ผมมีความถนัด แต่ผมเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว
อย่างไรก็ดี โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีความสอดคล้อง ในเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ทางกลุ่ม Applied Electromagnetics ของสมาคม ATPAC ปฏิบัติงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 นั้น ได้รับ การประเมินในแง่ของประโยชน์และผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลปรากฎว่า เท่าที่ผ่านมา สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาได้ประมาณ 42,980,000 บาท และทำให้เกิดการจ้างงานในด้านการพัฒนาและการผลิต ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 196,080,000 บาท ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ
ผมขอเชิญชวนนักวิชาชีพไทยในอเมริกาเหนือที่ตั้งตัวได้แล้วเข้ามาช่วยกันระดมความคิด และริเริ่มทำงานโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ และเพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  หากท่านมีโครงการที่ดีผมเชื่อว่า หน่วยงานของไทย เช่น สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (OSTC)   ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ก็พร้อมที่จะสนับสนุน การช่วยเหลือบ้านเกิด เมืองนอนเป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกคนพึงกระทำ  หากท่านมีโอกาสและศักยภาพในการช่วยพัฒนาประเทศไทย ท่านสามารถ พิจารณาเข้ามาร่วมทำงานกับพวกเราได้ จะได้ไม่ต้องคิดเสียดายในภายหลังว่ามีโอกาสแต่ไม่ได้ทำ
ดร.อาจณรงค์ (แถวนั่ง คนที่ 2 จากทางซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น รศ.ดร. พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะผู้บริหารของสมาคม ATPAC ในการประชุมประจำปีของสมาคม ATPAC ในปี พ.ศ. 2554
ขอบคุณ น.ส. จุฑารัตน์ บุญมี นักศึกษาชั้นปีที่ 3
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับบทสัมภาษณ์ ในขณะที่กำลังฝึกงานกับ
ดร.อาจณรงค์ ที่ Health Canada

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *